แบงก์ชาติแจงยังไม่พิจารณาดีล SCBX-บิทคับ

March 26, 2022 News Comments Off on แบงก์ชาติแจงยังไม่พิจารณาดีล SCBX-บิทคับ

ธปท.แจงกรณีดีล SCBX-บิทคับ ระบุกลุ่มการเงินไทยพาณิชย์มีการติดต่อในรายละเอียด แต่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องลงทุน คาดอยู่ระหว่างทำดิวดิลิเจนซ์ เผยกลางปีออกเกณฑ์คุมการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน

วันที่ 26 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารไทยพาณิชย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำดีลซื้อหุ้นจำนวน 51% ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้นำด้านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทย (Digital Asset Exchange) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 17,850 ล้านบาท นั้น

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตอนนี้กลุมธุรกิจไทยพาณิชย์ได้เข้ามาพูดคุยในรายละเอียดถึงเรื่องการเข้าไปลงทุนในบิทคับ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยื่นเรื่องขอลงทุนอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ธปท.จึงยังไม่ได้มีการพิจารณากรณีดังกล่าว ส่วนหนึ่งทาง SCBX อาจรอดูความชัดเจนของเกณฑ์การกำกับดูแลของธปท.ด้วย

“เนื่องจากปัจจุบันทั้ง 2 บริษัท ยังอยู่ระหว่างการสอบทานธุรกิจ (Due diligence) อยู่ โดยยังไม่รู้ว่าในท้ายสุดราคาตกลงซื้อขายจริงจะอยู่ที่เท่าไร และภายใต้การจัดโครงสร้างของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ภายใต้บริษัท เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) หากเกินเพดาน 3% ของเงินกองทุน ก็สามารถทำได้ แต่จะคิดในกองทุนที่แพงขึ้น หรือเงินกองทุนจะย่อมลง”

กลางปีออกเกณฑ์คุมสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ ภายในกลางปีนี้ ธปท.จะออกแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset: DA) ออกมาภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยเบื้องต้นเกณฑ์กำกับดูแล DA จะเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน ดูแลผู้ฝากเงิน และเสถียรภาพของระบบการเงิน เป็นหลัก โดยกำหนดให้สามารถลงทุนเพดานไม่เกิน 3% ของเงินกองทุนซึ่งเกณฑ์จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจ DA ที่ได้รับการอนุญาตและมีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น DA exchange ,Broker ,dealer เป็นต้น

โดยกรณีเป็นโฮลดิ้งสามารถลงทุนได้เกิน 3% ของเงินกองทุน และหากเกิน 3% ธปท.เปิดโอกาสให้สามารถทำได้ แต่ก็จะกระทบทำให้เงินกองทุนลดลงได้ แต่หากเป็นกรณีธพ.ไม่อนุญาตให้ทำเกินเพดาน 3% ที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นราวกั้นป้องกันความเสี่ยง

ต้องแยก DA ออกจากแบงก์
นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ฝากเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท.ยังกำหนดให้คณะกรรมการจะต้องแยกชุดกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจโฮลดิ้งที่ทำเรื่องของธุรกิจ DA โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าคณะกรรมการจะดูแลผลประโยชน์ของธนาคารเต็มที่ ขณะเดียวกันจะต้องมีเงินกองทุนที่สูงขึ้นเพียงพอเพื่อให้มีความพร้อมลงทุนในธุรกิจ DA และระบบไอที รวมถึงการแยกระบบคอร์แบงกิ้งออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงมาสู่ธนาคารพาณิชย์

และห้ามสื่อสารว่าธนาคารจะเข้าไปรับผิดชอบธุรกิจ DA หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์จะต้องไม่ส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นและเชิญชวนผ่านการสาขาธนาคารและเว็บไซต์ เพราะเรื่องของ DA ไม่เหมาะกับลูกค้าทุกคน ยกเว้นกับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (HNW) ตามเกณฑ์ของก.ล.ต. ที่มีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน แต่ธนาคารจะเป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น

ส่วนธุรกิจ DA ที่ไม่มีการกำกับดูแล เช่น Metaverse และ Defi ธปท.กำหนดให้ทำอยู่ในขอบเขต (Sandbox) โดยจะมีการพิจารณา 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการรับเข้าทดสอบ ซึ่งจะพิจารณาว่าทำแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนและต้นทุนลดลง และขั้นตอนหลังการทดสอบแล้วเสร็จก่อนจะให้บริการวงกว้าง จะดูว่ามีประโยชน์ต่อภาพรวมหรือไม่ โดยการทดสอบยังคงยึดเกณฑ์การลงทุนอยู่ 3% ของเงินกองทุน

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance