สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังตึงเครียด หนุนดอลลาร์แข็งค่า
March 4, 2022 News Comments Off on สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังตึงเครียด หนุนดอลลาร์แข็งค่า
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่รดับ 32.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/2) ที่ระดับ 32.50/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนที่กังวลต่อสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น จากการที่นานาชาติดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซียสั่งเตรียมพร้อมใช้อาวุธนิวเคลียร์ขั้นสูงสุด
โดยทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐ เตรียมสนทนาทางโทรศัพท์กับชาติพันธมิตรในเช้าวันนี้ (28/2) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนและมาตรการตอบโต้จากชาติพันธมิตร นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐานพุ่งขึ้น 5.2% ในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2526 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1%
ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 104.42 ขยายตัว 1.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.91% เพิ่มขึ้นจาก 65.24% ในเดือน ธ.ค. 64 โดยสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้จำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4/64 เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเกิดจากการลดลงของกำลังแรงงาน
ขณะที่อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 97.6% รวมถึงปีก่อนหน้าที่ 98% สะท้อนสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.61-32.77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.64/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (28/2) ที่ระดับ 1.1181/83 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/2) ที่ระดับ 1.1180/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงหลังขึ้นไปทำระดับแข็งค่าสุดในช่วงคืนวันศุกร์ (25/2) ที่ระดับ 1.1270/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่แย่ลงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสหภาพยุโรป (EU) ประกาศดำเนินการรอบใหม่เพื่อตอบโต้กรณีรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งรวมถึงการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ EU ใช้มาตรการดังกล่าว
นอกจากนี้สำนักข่าวซีเอ็นบีซีเปิดเผยถ้อยคำของนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ว่า EU จะออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มด้วยการสั่งห้ามเครื่องบินรัสเซียเข้าดินแดน EU หลังเพิ่มประกาศมาตรการคว่ำบาตรไปในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1133-1.1201 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1168/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/2) ที่ระดับ 115.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/2) ที่ระดับ 115.56/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นลดลง 1.3% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากภาวะชะงักงันของอุปทานเซมิคอนดักเตอร์และภาคส่วนอื่น ๆ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.ลดลง 1.0% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.26-115.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐเดือน ก.พ. จาก ISM (1/3), ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐจาก ADP (2/3), ดัชนีภาคบริการเดือน ก.พ.จาก ISM (3/3), การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน ก.พ. (4/3), อัตราว่างงานสหรัฐเดือน ก.พ. (4/3)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.50/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.4/-1.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance