ลุ้น “วินโดวส์เดรสซิ่ง – ฟันด์โฟลว์” ดันหุ้นไทยปิดโค้งแรกที่ 1,700 จุด

March 25, 2022 News Comments Off on ลุ้น “วินโดวส์เดรสซิ่ง – ฟันด์โฟลว์” ดันหุ้นไทยปิดโค้งแรกที่ 1,700 จุด

โบรกเกอร์คาด กองทุนทำวินโดวส์เดรสซิ่งปิดไตรมาส 1/65 – ฟันด์โฟลว์ไหลเข้า หนุนดัชนี “บล.หยวนต้า” เชื่อสถาบันในประเทศเข้าซื้อ “บล.เมย์แบงก์” มองหุ้นไทยยังน่าลงทุน “บล.ฟินันเซีย” ลุ้นต่างชาติซื้อสุทธิ 2 แสนล้าน จากปัจจุบันเฉียด “แสนล้าน” หนุนดัชนีแตะ 1,700 จุด

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในสิ้นเดือนมี.ค. มีโอกาสเห็นการทำราคาเพื่อปิดงวดบัญชี (วินโดวส์ เดรสซิ่ง) สิ้นไตรมาส 1 ปี 2565 ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งคาดว่าจะช่วยพยุงการเคลื่อนไหวของดัชนี SET (SET Index) ในช่วงปลายไตรมาส 1 รวมถึงหนุนให้ผลตอบแทนของกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแคป) ในดัชนี SET50 (SET50 Index) เป็นบวก โดยคาดว่าจะเห็นการทำวินโดวส์เดรสซิ่งต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่เหลือนี้ (24-25 มี.ค.65) ไปจนถึงสัปดาห์หน้า (28-31 มี.ค.65)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงซื้อส่วนใหญ่จะมาจากสถาบัน (กองทุน) ในประเทศ เพราะเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่มาก สะท้อนจากที่ผ่านมาขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยราว 7.7 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ภายหลังปิดไตรมาสจะเข้าสู่ช่วงประกาศงบไตรมาส 1 ปี 2565 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มเติบโต

ในส่วนของเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) คาดว่ามีโอกาสเห็นยอดซื้อสุทธิแตะ 1 แสนล้านบาท จากต้นปีถึงปัจจุบันที่มียอดซื้อสุทธิแล้ว 9.8 หมื่นล้านบาท จากเม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ต่อเนื่องในช่วง 2 วันทำการ (21-22 มี.ค.) ราว 5.4 พันล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินที่ออกจากตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะภูมิภาคยุโรป จากความกังวลสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน บล.หยวนต้า แนะนำซื้อหุ้นที่มีโอกาสได้รับการทำวินโดวส์เดรสซิ่งสูง เช่น บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB)

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีโอกาสเห็นกองทุนทำวินโดวส์ เดรสซิ่งช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2565 เพราะเป็นกลุ่มที่มีสภาพคล่องสูง ภายหลังขายหุ้นออกมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน แต่คาดว่าเม็ดเงินทำวินโดวส์เดรสซิ่งอาจไม่มากนัก เพราะดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงแล้วที่ 1,680 จุด โดยอาจเห็นแรงซื้อสูงเป็นพิเศษในวันสุดท้ายของไตรมาส (31 มี.ค.65)

ส่วนแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ คาดว่ามีโอกาสแตะ 1 แสนล้านบาท และเชื่อว่ามีโอกาสเห็นการเข้ามาซื้อสุทธิต่อเนื่อง จากยอดขายสะสมในอดีตที่ยังอยู่ในระดับสูง 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นเอเชียยังมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นฝั่งตะวันตก เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครนน้อยกว่า ขณะที่การเติบโตของจีดีพี แม้มีความเสี่ยงถูกปรับคาดการณ์ลง แต่ภาพรวมการเติบโตยังสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 ปี 2565 คาดว่าจะแกว่งออกข้าง (ไซด์เวย์) ในกรอบ 1,600-1,700 จุด โดยมีปัจจัยกดดันจากความเสี่ยงขาลง (ดาวน์ไซด์) ของเศรษฐกิจ จากผลกระทบสงครามรัสเซียกับยูเครน อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำซื้อหุ้นที่แนวรับ 1,600 จุด

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า คาดสิ้นไตรมาส 1 มีโอกาสเห็นกองทุนทำวินโดวส์เดรสซิ่ง แต่ประเมินแรงซื้ออาจไม่มากอย่างมีนัยสำคัญที่จะหนุนให้ดัชนียืนเหนือแนวต้าน 1,700 จุดได้ แต่คาดฟันด์โฟลว์มีโอกาสกลับมาซื้อหุ้นไทยราว 2 แสนล้านบาท จากต้นปีถึงปัจจุบันกลับมาซื้อแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท

เทียบกับปี 2563-2564 ที่ต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาราว 3 แสนล้านบาท จากความกังวลผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะมีปัจจัยลบจากการดึงสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ของเฟด แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบ เพราะช่วงที่เฟดอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ (QE) ตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันสภาพคล่องทั่วโลกยังอยู่ระดับสูง ประกอบกับมีเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ เพราะกังวลอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จะทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวลง และเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากตลาดหุ้นรัสเซีย และตลาดหุ้นยุโรป

ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (อัพไซด์) เพราะที่ผ่านมา ยังปรับขึ้นน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย 2 ปีที่ผ่านมา เติบโตที่ต่ำ ทำให้มีโอกาสเติบโตได้ และความคาดหวังการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคบริการ นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนไทยมีความแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานมีทิศทางเติบโต สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุน